ชีวิตที่พอเพียง 4711. PMAC 2025 Preparatory Meeting 2 Kobe : 7. ชีวิต ๕ วัน ที่โกเบ


 

๒๖ มีนาคม ๒๕๖๗

เราไปถึง JICA Kobe Center เวลาราวๆ ๑๘ น.   ขึ้นห้อง ๑๑๐๑ แล้วลงมากินอาหารเย็นที่ห้องอาหารที่มีลูกค้า ๒ คน (รวมผม)    กินอาหารญี่ปุ่นราดไข่ลวก ๑ ฟอง ๖๒๐ เยน    แล้วขึ้นไปนั่งทำงานบนห้องที่ไม่กว้างขวางมาก แต่มีเครื่องอำนวยความสะดวกสบายครบครัน   ห้องค่อนข้างเย็น  ต้องสวมเสื้อหนาวทับชุดนอน  ผมทำงานจน ๒๑.๓๐ น. เวลาไทย (๒๓.๓๐ น. เวลาญี่ปุ่น) ก็เข้านอนโดยมี เมลาโทนิน ๑ เม็ดช่วยให้หลับสบาย   

ก่อนหน้านั้นซักถุงเท้ากับกางเกงใน    ตากที่สายตากผ้าในห้องน้ำ    

๒๗ มีนาคม ๒๕๖๗

นอนหลับสบายจนตีสี่ (ไทย) ก็ตื่นเองตามความเคยชิน    พบว่าผ้าที่ตากไว้ไม่ค่อยแห้ง คงเพราะความชื้นในอากาศสูงเนื่องจากฝนตกเมื่อวันที่๒๕  เพิ่งหยุดเช้าวันที่ ๒๖   วันนี้แดดจ้ามากทั้งวัน    กินอาหารเช้าที่ห้องอาหาร ที่เขาจัดให้คนที่มาพักกินฟรี   ที่ผมชอบมากคือมะเขือเทศที่สดและอร่อยมาก    ได้กินผักสลัดอร่อยสมใจ   

ประชุมที่ชั้น ๒ ของ JICA Kansai Center    โดยดัดแปลงสนามบาสเป็นห้องประชุม     ตกเย็นไปกินเลี้ยงรับรอง     กลับมาเขียนบันทึกและอ่านเอกสารจน ๒๐.๓๐ น. เวลาไทยจึงเข้านอนโดยไม่ใช้ตัวช่วย 

๒๘ มีนาคม ๒๕๖๗

ตื่นตีสามไทย    นั่งทำงานจน ๖.๓๐ น. เวลาญี่ปุ่นก็ลงไปเดินออกกำลังกับท่านอธิการบดี ศ. นพ. บรรจง มไหศวริยะ   ได้ฟังเรื่องที่ท่านทำวิจัยตั้งตัวทางวิชาการตั้งแต่สมัยไปทำงานที่ มข. 

ประชุม ๙ - ๑๒ น.   พักเที่ยงแล้วประชุมต่อ ๑๖.๓๐ น. ก็เสร็จก่อนเวลา    คุณหมอสุวิทย์ชวนไปกินอาหารเย็นเพื่อคุยกับว่าที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล (ศ. นพ. ปิยะมิตร ) กับคณบดี  และ นพ. จเด็จ  ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช.  เพื่อหาทางร่วมมือกันพัฒนาระบบบริการสุขภาพ    โดย นพ. ปิยะมิตรหาร้าน ได้ร้านเนื้อโกเบย่าง Amona Sannomiya    อยู่ในเมืองนั่งรถไปจากไจก้าไม่ถึง ๑๕ นาที ระยะทาง ๓ ก.ม.   ทีมที่นอนโรงแรมเดินมา ๑๐ นาทีท่ามกลางสายฝน   

ได้กินเนื้อโกเบย่างสมใจ (เนื้อพิเศษต้องลายหินอ่อน)   อร่อยมาก กินกับไวน์แดงอัฟริกาใต้ และเหล้าสาเก    อร่อยทั้งอาหาร และเหล้าทั้งสองอย่าง    รวมทั้งได้คุยเรื่องลึกๆ เกี่ยวกับระบบสุขภาพ และการเมืองในมหาวิทยาลัย   ผมเสนอให้อธิการบดีใหม่จัดระบบบริหารที่หนุนพลังศักยภาพภายในมหาวิทยาลัยมหิดล    รวมทั้งใช้พลังหุ้นส่วนภายนอกที่เขาอยากร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดลอยู่แล้ว    กลับถึงที่พักเกือบสามทุ่ม    อาบน้ำแล้วนั่งทำงานต่อ

ตอนบ่ายฝนตกปรอยๆ พอค่ำตกค่อนข้างหนัก    อุณหภูมิขึ้นไปเป็น ๑๓ องศาในตอนสี่ทุ่ม   

๒๙ มีนาคม ๒๕๖๗

ตอนเช้าฝนตก    สายแดดออก บ่ายอุณหภูมิขึ้นไปถึง ๒๐ องศา    กินอาหารเที่ยงเสร็จ ออกไปชมพิพิธภัณฑ์ Hyogo Prefectural Museum of Art  กับพิพิธภัณฑ์ The Great Hanshin-Awaji Earthquake Memorial   ที่เป็น Disaster Reduction and Human Renovation Institution ด้วย โดยเขามีแผ่นพับภาษาไทยแจกให้ชื่อว่า ศูนย์คนและอนาคตการป้องกันภัย    เราไปกัน ๓ คน กับ ศ. นพ. บรรจง มไหศวริยะ และ ศ. นพ. อาทิตย์ อังกานนท์   ได้เห็นอาคารพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่ใหญ่โตมโหฬาร    และได้สัมผัสความร้ายแรงของแผ่นดินไหววันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๓๘ เวลา ๕.๔๖ น.  โดยชมภาพยนตร์สั้นๆ ๓ รายการ   และชมนิทรรศการทั้งในส่วนของภัยธรรมชาติ และการเตรียมรับมือภัยพิบัติจากธรรมชาติ   

ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะ พบแผ่นโฆษณา Imaginarium เตะตาจึงหยิบมา   เอามาค้นที่บ้านได้ว่าเป็นกิจกรรมของพิพิธภัณฑ์ Itami City Museum of Art, History and Culture    ช่วยให้เห็นว่า ประเทศญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมเรียนรู้จากศิลปะ  มีพิพิธภัณฑ์เป็นแหล่งเรียนรู้ทุกเมือง   

ตอนเย็นทำงานในห้อง   กินอาหารกระป๋องที่เตรียมมาจากบ้าน   

๓๐ มีนาคม ๒๕๖๗ (วันเสาร์)

มีเวลาว่างราวๆ ๓ ชั่วโมง   ได้ออกไปเดินในเมืองกับสองคู่เขย ศ. นพ. บรรจง  กับ ศ. นพ. อาทิตย์    รายละเอียดอยู่ในอีกบันทึกหนึ่ง 

สรุปได้ว่า ชีวิต ๕ วันในโกเบ  เป็นชีวิตที่ได้เรียนรู้สูงมาก ทั้งเรื่องการประชุม  เรื่องทางสังคมที่ได้ทำความรู้จักสนิทสนมกับทีมไทยบางคนที่มาใหม่   และทำความรู้จักเมืองโกเบ  

วิจารณ์ พานิช

๒ เม.ย. ๖๗ 

 

หมายเลขบันทึก: 718021เขียนเมื่อ 28 เมษายน 2024 16:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 เมษายน 2024 16:19 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท